ความหมาย "อาคาร" ตามกฎหมายควบคุมอาคาร
กฎหมายควบคุมอาคารได้นิยามความหมายของคำว่า "อาคาร" ไว้ดังนี้ "อาคาร" หมายความว่า
-
ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้ามาอยู่หรือเข้าใช้สอยได้
-
อัฒจันทร์ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น เพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน
-
เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ท่อหรือทางระบายน้ำ อู่เรือ คานเรือ ท่าน้ำ ท่าจอดเรือ รั้ว กำแพง หรือประตู ที่สร้างติดต่อ หรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะ หรือที่สาธารณะ หรือที่สร้างให้บุคคลทั่วไปใช้สอย
-
ป้าย หรือสิ่งที่สร้างสำหรับติด หรือตั้งป้าย ที่มีลักษณะข้อหนึ่งข้อใดดังต่อไปนี้
-
ที่ติด หรือตั้งไว้เหนือที่สาธารณะ และมีขนาดเกิน 1 ตารางเมตร หรือน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกิน 10 กิโลกรัม
-
ที่ติด หรือตั้งไว้ในระยะห่างจากที่สาธารณะ ซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้ว มีระยะห่างจากที่สาธารณะ น้อยกว่าความสูงของป้ายเมื่อวัดจากพื้นดิน และมีขนาดหรือน้ำหนักเกินกว่าที่กฎกระทรวง
-
พื้นที่ หรือสิ่งที่สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถ
-
สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงส่วนต่างๆ ของอาคาร
ลักษณะการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคาร ที่ต้องขออนุญาต
-
สร้างอาคารขึ้นใหม่ล้วน
-
ต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเพิ่มน้ำหนักให้แก่อาคารนั้น หรือขยายพื้นที่มากขึ้น ดังนี้
-
เพิ่ม หรือขยายพื้นที่ชั้นหนึ่งชั้นใด ตั้งแต่ 5 ตารางเมตรขึ้นไป
-
เปลี่ยน หรือขยายหลังคาให้คลุมเนื้อที่มากขึ้นกว่าเดิม อันเป็นการเพิ่มน้ำหนักแก่อาคารเดิม
-
เพิ่ม หรือลดจำนวนเสา หรือคาน
-
เปลี่ยนเสา คาน บันได ผนัง หรือเพิ่มผนังหรือส่วนประกอบอื่น อันเป็นการเพิ่มน้ำหนักแก่อาคารเดิม
-
เพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใด เกินร้อยละ 10
-
รื้อถอนอาคารที่มีส่วนสูงเกิน 15 เมตร ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่น หรือที่สาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร
-
อาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่น หรือที่สาธารณะน้อยกว่า 2 เมตร
การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ต้องเตรียมหลักฐานดังนี้
-
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อนุญาต และเจ้าของที่ดิน
-
แผนผังแบบก่อสร้าง และรายการก่อสร้างอย่างละ 5 ชุด
-
สำเนาโฉนดที่ดินที่จะทำการก่อสร้าง
-
สำเนาทะเบียนบ้านของผู้อนุญาต และเจ้าของที่ดิน
เตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (เฉพาะเรื่อง)
-
หนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดิน (กรณีผู้ขออนุญาตไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน)
-
หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างชิดเขตที่ดิน (กรณีชิดเขตที่ดินข้างเคียง)
-
หนังสือยินยอมให้ใช้ฐานรากร่วมกัน (กรณีใช้ฐานรากร่วมกัน)
-
หนังสือรับรองการรับผิดชอบความเสียหายของทรัพย์สินข้างเคียง (กรณีก่อสร้างชิดเขตทรัพย์สินผู้อื่น)
-
หนังสือรับรองประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม พร้อมสำเนาบัตรประจำตัว (กรณีอาคารที่อยู่ข่ายควบคุม ตาม พ.ร.บ. วิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 และ พ.ร.บ. วิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2543 พ.ร.บ. วิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2508 และ พ.ร.บ. วิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2543)
-
รายการคำนวณ 1 ชุด (กรณีที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อสร้างด้วยวัตถุถาวรและทนไฟเป็นส่วนใหญ่)
-
แบบระบบบำบัดน้ำเสียของอาคารพักอาศัย (แบบมาตรฐานกรมโยธาธิการ)
-
แบบนิรภัยลูกกรงเหล็กดัด (กรณีจัดทำประตู หน้าต่าง เหล็กดัด อาคาร ตึกแถว)
การพิจารณา : ในการตรวจพิจารณารายละเอียดแบบแปลน เทศบาลอาจจะสั่งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไข เปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ แบบแปลนรายการประกอบแบบ หรือ รายการคำนวณที่ได้ยื่นไว้เพื่อให้ถูกต้อง และเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2497 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่2) พ.ศ. 2535เมื่อท่านก่อสร้างอาคารเสร็จแล้ว ให้ยื่นคำร้องขอเลขหมายประจำบ้านได้ที่สำนักทะเบียนเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา
การเตรียมหลักฐานขอเลขหมายประจำบ้าน
-
ใบอนุญาตปลูกสร้างอาคาร
-
แบบแปลน 1 ชุด
ค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาต
-
ใบอนุญาตก่อสร้าง ฉบับละ 20 บาท
-
ใบอนุญาตดัดแปลง ฉบับละ 10 บาท
-
ใบอนุญาตรื้อถอน ฉบับละ 10 บาท
-
ใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้ ฉบับละ 20 บาท
-
ใบรับรอง ฉบับละ 10 บาท
-
ใบแทนอนุญาตหรือใบแทนรับรอง ฉบับละ 5 บาท
ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบแบบแปลนก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร
-
อาคารสูงไม่เกิน 2 ชั้น ตารางเมตรละ 0.50 บาท
-
อาคารสูงเกิน 2 ชั้น แต่ไม่เกิน 3 ชั้น ตารางเมตรละ 2 บาท
-
ป้าย ตารางเมตรละ 4 บาท
-
ทาง หรือท่อระบายน้ำ รั้วหรือกำแพง ฯลฯ เมตรละ 1 บาท
คำเตือน :
-
ผู้ใดก่อสร้างอาคาร ดัดแปลง เคลื่อนย้ายอาคาร โดยเจ้าของอาคารไม่ได้รับใบอนุญาตจากเทศบาล หรือผู้ใดก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือ เคลื่อนย้ายอาคาร ให้ผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต ตลอดจน วิธีการ หรือเงื่อนไข เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาตต้องระวางโทษปรับวันละไม่เกิน 10,000 บาท
-
ถ้าเป็นการกระทำผิดของผู้ดำเนินการต้องระวางโทษเป็นสองเท่า ของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ
-
ถ้าเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา การสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้า เพื่อให้เช่า ซื้อ ขาย หรือจำหน่าย โดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น